สำหรับงานศิลปะที่มีอย่างหลากหลายซึ่งสามารถเห็นได้มาตั้งแต่อดีตเชื่อว่าคนที่ไม่ได้มีความรู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านศิลปะมากนักก็คงมองผ่านๆ ว่าเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่งที่มีความงดงาม แต่หากมองให้ลึกลงไปหรือทำคามเข้าใจกับงานศิลปะนั้นๆ แล้วจะรู้ว่างานศิลปะที่ว่านี้เป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจมากกว่าแค่การเป็นงานศิลปะอย่างแน่นอน คำว่าทัศนศิลป์เป็นคำที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ แต่ก็ยังคงมีหลายคนไม่เข้าใจกับความหมายของคำๆ นี้ว่าแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่

ความหมายของทัศนศิลป์

ทัศนศิลป์สามารถเรียกได้อีกชื่อหนึ่งว่า วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภาพวาด งานปั้น รวมถึงงานแกะสลักสิ่งต่างๆ ที่ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นมาด้วยความสามารถของมนุษย์ที่ผ่านการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญเพื่อให้เกิดเป็นความงดงาม ความเป็นสุนทรียภาพต่อผู้ที่ได้พบเห็น ศิลปะจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความนิยมยินดีที่ได้มีความเข้าใกล้กับสิ่งที่สวยงาม หรือแม้แต่ของที่เป็นสิ่งเดียวกันหลากหลายชิ้นคนทุกคนก็มักจะเลือกสิ่งที่มีความสวยงามมากที่สุดเอามาเป็นเจ้าของ ผลงานที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจะขึ้นอยู่กับตัวของศิลปินเอง ไม่ได้มีจุดประสงค์หลักว่าต้องทำเพื่อใคร หรือมีใครมาสร้างโจทย์แล้วให้ทำตาม ศิลปินที่ทำจะเกิดอิสระทางความคิด สามารถใส่ความเป็นตนเองลงไปในผลงานชิ้นนั้นได้อย่างเต็มที่เพื่อต้องการสื่อสารให้ออกมาทางด้านอารมณ์และสามารถบอกเล่าความรู้สึกออกมาเป็นภาษาภาพให้ผู้อื่นได้มองและสัมผัสผ่านสายตานั่นเอง

ประเภทของทัศนศิลป์พื้นฐาน

  1. จิตรกรรม – เป็นงานศิลปะรูปแบบ 2 มิติ ใช้วิธีทำ เช่น การวาด การเขียน การระบายสี บนวัสดุประเภทต่างๆ เช่น ผ้า กระดาษ ฝาผนัง สามารถเกิดขึ้นเป็นความงดงาม สามารถสื่อได้ถึงอารมณ์ แนวคิด และความรู้สึกของศิลปินผ่านตัวกล่างอย่างสีต่างๆ
  2. ประติมากรรม – เป็นงานศิลปะรูปแบบ 3 มิติ ใช้วิธีทำอย่างการปั้น ประกอบเชื่อมต่อ แกะสลัก มีวัตถุที่นำมาทำหลากหลาย อาทิ ปูน ดิน หิน เหล็ก ไม้ ต้องมีการกำหนดแนวคิดเพื่อสามารถตีความหมายออกมาได้ก่อนนำมาใช้เป็นเกณฑ์เลือกวัสดุและวิธีในการทำต่อไป
  3. ภาพพิมพ์ – เป็นงานศิลปะที่มีขั้นตอนในการสร้างสรรค์เยอะสุด ต้องเป็นคนละเอียดอ่อน มีสมาธิ งานภาพพิมพ์ทุกวันนี้มักเข้าไปอยู่ในระบบของอุตสาหกรรมเนื่องจากว่าสามารถผลิตผลงานออกมาได้จำนวนมาก
  4. สื่อผสมหรือสื่อใหม่ – เน้นการสร้างแนวความคิดของศิลปินให้ออกมาเป็นภาพหรือการแสดง ได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การสร้างงานในคอมพิวเตอร์ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน แม้ภาพที่ออกมาบางครั้งอาจไม่ได้สวยงามเหมือนทั่วๆ ไป แต่ก็ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสารออกมาได้เช่นเดียวกันกับงานศิลปะประเภทอื่นๆ