การที่คนๆ หนึ่งจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงได้นอกจากเรื่องของพรสวรรค์ที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดแล้ว เรื่องของความสามารถ ความขยันที่จะฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ การสร้างความคิดใหม่ๆ ที่ใส่ลงไปในงานศิลปะ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ส่งให้ศิลปินผู้นั้นก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ได้นั่นเอง และความสามารถทั้งหมดที่พวกเขาเหล่านี้ได้สร้างขึ้นมามันจึงเป็นสิ่งสมควรที่จะต้องได้รับการยกย่องให้คนทั้งประเทศได้รู้จักกับผลงานอันมีคุณค่าทั้งหลาย การมีวันศิลปินแห่งชาติจึงเปรียบได้กับเป็นการระลึกถึงความสำคัญในงานศิลปะและผู้สร้างงานศิลปะอยู่เสมอนั่นเอง

ประวัติของวันศิลปินแห่งชาติ

วันศิลปินแห่งชาติตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี สาเหตุก็เนื่องมาจากว่าตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ผู้ที่ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นปฐมบรมกษัตริย์ศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับศิลปกรรมด้านต่างๆ หลากหลายสาขาทั้งในด้านของกวีนิพนธ์, ด้านประติมากรรม และด้านดนตรี ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาใดเปรียบมิได้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ประกาศให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ โดยทางสำนักงานคณะกรรมการการวัฒนธรรมแห่งชาติได้มีการจัดทำโครงการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เพื่อทำการสรรหา ส่งเสริม สนับสนุน และเป็นการช่วยเหลือศิลปินผู้ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะอันแสนทรงคุณค่ากับแผ่นดินให้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ จะมีสำนักงานคณะกรรมการการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้ที่พิจารณาถึงความเหมาะสมในแต่ละปีว่าศิลปินท่านใดเหมาะที่จะเป็นศิลปินแห่งชาติในด้านนั้นๆ

ข้อสำคัญในการเป็นศิลปินแห่งชาติ

ศิลปินแห่งชาติจัดเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญทางด้านงานศิลปะที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้มีการเชื่อมโยงมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ได้มาจากบรรพบุรุษในอดีตเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบต่อไปในอนาคต นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการศิลปินแห่งชาตินี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ก็ได้มีการประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2528 จนกระทั่งทุกวันนี้มีศิลปินหลายคนที่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาต่างๆ มากมาย สำหรับผู้ที่ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท สามารถทำการเบิกสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระบบราชการไม่เกินปีละ 100,000 บาท มีค่าใช้จ่ายช่วยเหลือในกรณีประสบสาธารณภัย ในกรณีเสียชีวิตจะมีเงินสำหรับการช่วยเหลือค่าทำศพอีก 20,000 บาท ค่าหนังสือในการจัดทำที่ระลึกไม่เกิน 150,000 บาท เพื่อเป็นการยกย่องถึงคุณงามความดีที่เคยทำให้กับประเทศไทย